หุ้นวิชั่น-ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SABUY) ราคาหุ้นเช้านี้ร่วงแรงเกือบติดฟลอร์ (Floor) โดยทำจุดต่ำสุดที่ 0.29 บาท และจุดสูงสุด 0.40 บาท ขณะที่มีราคา ณ ปิดตลาดภาคเช้า อยู่ที่ 0.33 บาท หรือ ลดลง 0.07 บาท (-17.50%) ด้วยมูลค่าซื้อขายราว 5,175.63 ล้านบาท
ทั้งนี้ช่วงเช้าที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขอให้ SABUY ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567 หลังผู้สอบบัญชีมีข้อสงสัย ดังนี้
- 1. ผู้สอบบัญชีพบว่ามีทรัพย์สินและสินค้าคงเหลือสูญหายรวม 215 ล้านบาท ซึ่งบริษัทบันทึกค่าความเสียหายดังกล่าวในงวดไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินของบริษัท 114 ล้านบาท (53%) ของ PTECH 89 ล้านบาท (41%) และที่เหลือเป็นของบริษัทอื่นๆ ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก
- 2. เดือนตุลาคม 2567 บริษัทซื้อบจก. ลอคบอกซ์ กรุ๊ป (LOCKBOX) และบจก.ลอคบอกซ์ เวนเจอร์ส (LOCKVENT) ประกอบธุรกิจให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ในราคา 360 ล้านบาท โดยมีค่าความนิยม 257 ล้านบาท(71% ของมูลค่าซื้อ) ซึ่งการประเมินมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ธุรกิจให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ยังไม่เสร็จสิ้น อาจมีการปรับปรุงมูลค่าในอนาคต
- 3. ความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีปี 2567 ขาดทุน 6,238 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3,283%) และขาดทุนสะสม 8,152 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,103%) รวมทั้งบริษัทถูกสถาบันการเงินฟ้องคดีแพ่งจากการผิดนัดชําระหนี้
สรุปสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทขาดทุนสูงมาก ดังนี้
(1) ผลกระทบจากการลงทุนใน TSR, AS, PTECH และบริษัทอื่น ๆ จำนวน 5,731 ล้านบาท
(2) ขาดทุนจากการวัดค่าทรัพย์สินทางการเงิน จำนวน 111 ล้านบาท
(3) ขาดทุนจากการด้อยค่าธุรกิจและยกเลิกสัญญาธุรกิจ จำนวน 416 ล้านบาท
โดยขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 3 เมษายน 2568 ในส่วนความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบ ขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 10 เมษายน 2568 นอกจากนี้ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของบริษัท
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ SABUY ชี้แจงข้อมูลดังนี้
- กรณีทรัพย์สินสูญหาย อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรอบเวลาในการตรวจสอบเชิงลึกและผลการตรวจสอบ การดำเนินการแก้ไขระบบควบคุมภายในเพื่อดูแลทรัพย์สินและมาตรการตรวจนับทรัพย์สินของกลุ่มบริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก
- กรณีซื้อกิจการให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ อธิบายกรอบเวลาของการประเมินราคาทรัพย์สินและการเสร็จสิ้นการประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการด้อยค่าของเงินลงทุนและค่าความนิยมของธุรกิจ
- แนวทางจัดการกรณีถูกสถาบันการเงินฟ้องคดีแพ่งจากการผิดนัดชำระหนี้ ความคืบหน้าการเจรจาและแนวทางการติดตามหนี้กับ TSR รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงกรณีอาจจะไม่ได้รับชำระหนี้
- แนวทางดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต เนื่องจากมีกิจการที่ด้อยค่าธุรกิจและยกเลิกสัญญาธุรกิจหลายรายการ รวมทั้งมีประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง พร้อมอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขาดทุนจากการวัดค่าทรัพย์สินทางการเงิน
- ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับ
(1) ความเพียงพอและเหมาะสมของระบบควบคุมภายในของกลุ่มบริษัทจากกรณีในข้อ 1 รวมทั้งกลไกการติดตามดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบและมาตรการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว
(2) มาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงจากการให้เงินกู้ยืมและการลงทุนในธุรกิจต่างๆ การลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานปี 2567 เป็นขาดทุนสุทธิอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงหากมีการลงทุนหรือทำธุรกรรมใดๆ ในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ หากผลการตรวจสอบเชิงลึกทรัพย์สินสูญหายและต้องมีการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในเรื่องดังกล่าว ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จหรืออยู่ระหว่างดำเนินการ ขอให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลพร้อมกับการนำส่งงบการเงินทุกไตรมาสหรือเมื่อมีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ที่สำคัญ
โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มบริษัท
SABUY ถือหุ้นในบริษัทอื่น รวม 4 บริษัท ได้แก่
- บริษัท ทีเอสอาร์ ลิฟวิ่ง โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) (TSR) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องกรองนำแบบขายตรง (เข้าลงทุนในปี 2565) โดยมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากเงินให้กู้ยืมระยะสั้น และลูกหนี้อื่น 947 ล้านบาท, ขาดทุนด้อยค่าค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น 576 ล้านบาท, ขาดทุนจากการสูญเสียอำนาจควบคุม 324 ล้านบาท
- บริษัท แอสเฟียร์ อินโนเวชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (AS) ให้บริการเกมออนไลน์และเกมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เข้าลงทุนในปี 65) โดยมีผลขาดทุนจากการสูญเสียอำนาจควบคุม 1,054 ล้านบาท, ขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุน 652 ล้านบาท
- บริษัท พลัส เทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (PTECH) ผลิตบัตรครบวงจร (เข้าลงทุนในปี 64 SABUY ถือหุ้นในสัดส่วน 73%) โดยมีผลขาดทุนด้อยค่าค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น 352 ล้านบาท, ทรัพย์สินสูญหาย 89 ล้านบาท (41% ของมูลค่าสูญหายของ SABUY ทั้งหมด)
- บจก. ลอคบอกซ์ กรุ๊ป (LOCKBOX) และบจก.ลอคบอกซ์ เวนเจอร์ส (LOCKVENT) ให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ (SABUY เข้าลงทุนในปี 67 ถือหุ้นในสัดส่วน 80%) ค่าความนิยม 257 ล้านบาท ยังประเมินไม่แล้วเสร็จ
หากย้อนในดูผลการดำเนินงานของ SABUY ในปี 2567 พบว่า SABUY มีผลขาดทุนสุทธิรวม 6,238.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีผลขาดทุนสุทธิราว 189.83 ล้านบาท ซึ่งเป็นการพลิกขาดทุนจากปี 2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,482.11 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุน รวมไป ถึงผลขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุน จำนวน 4.90 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างแผนธุรกิจใหม่ของกลุ่มบริษัท
ในไตรมาสที่ 4 กลุ่มบริษัทรับรู้ค่าใช้จ่ายจากความเสียหายจากทรัพย์สิน จำนวน 202.7 ล้านบาท ในงบกำไร ขาดทุน เนื่องจากผลต่างจากการตรวจนับสินทรัพย์พบว่าจำนวนทรัพย์สินในทะเบียนทรัพย์สินสูงกว่าปริมาณที่มีอยู่จริง ในสถานที่จัดเก็บทรัพย์สินของกลุ่มบริษัท คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการดำเนินการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกโดยเร่งด่วนในเรื่องดังกล่าว เพื่อปกป้องรักษาสิทธิประโยชน์ของบริษัท ทั้งนี้หลังจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังกล่าว บริษัทฯจะได้ทำการรายงานความคืบหน้า รวมถึงตั้งสำรองความเสียหายให้สะท้อนภาพความเป็นจริงมากที่สุด
สำหรับกลยุทธ์และเป้าหมายในปี 2568 SABUY ได้มีการเปิดเผยว่า จากสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัว และบริษัทฯ ประสบปัญหาขาดความเชื่อมั่นตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2567 เนื่องจากการไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้สถาบันการเงิน และคู่ค้าระงับวงเงิน ทำให้ บริษัทฯ เผชิญกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ประกอบกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานบางส่วน ถูกนำมาใช้ชำระหนี้ และดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายธุรกิจในกลุ่มบริษัทหดตัว และสูญเสียความสามารถในการสร้างรายได้ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ได้เร่งแก้ปัญหาในการหานักลงทุนรายใหม่เพื่อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทฯ
อย่างไรก็ตามด้วยสภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้การเพิ่มทุนถูกยกเลิกไปถึงสองครั้ง และสำเร็จในครั้งที่สามเมื่อ เดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยบริษัทฯ มีแผนใช้เงินทุนดังกล่าวเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินของกลุ่มบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการดำเนินธุรกิจและการให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ มุ่งเน้นการใช้เงินทุนดังกล่าว เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้ธุรกิจในกลุ่มบริษัทฯ สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติอย่างรวดเร็วที่สุด และสร้างกระแสเงินสดที่เพียงพอ
ทั้งนี้กลยุทธ์และเป้าหมายในปี 2568 จะแบ่งได้เป็น 4 เรื่องหลักๆ ดังนี้
- พลิกฟื้นผลประกอบการของธรุกิจหลัก (Business Turnaround) ให้กลับมามีกำไรให้เร็วที่สุด
บริษัทฯ ได้วางแผนการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างรอบคอบ โดยมีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารชุดใหม่เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการด าเนินงานและปรับขนาดองค์กรให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อ จะเร่งสร้างการเติบโตของรายได้ เพิ่มเงินทุนหมุนเวียนจากธุรกิจด้านต่างๆ ประกอบด้วย
- B2B Solutions มุ่งเน้นให้บริการแก่องค์กรเป็นหลัก ได้แก่ Plus Tech และ SABUY Solutions
- B2C Solutions ให้บริการแก่ผู้บริโภคโดยตรง ได้แก่ SABUY SPEED, เติมสบายพลัส และล็อค บอกซ์
- Financial Solutions ระบบธุรกรรมทางการเงิน ได้แก่ Love Leasing
นอกจากนี้บริษัทฯจะดำเนินแผนการลดต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ในภาพรวมของกลุ่มบริษัทควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
- ดำเนินการขายสินทรัพย์สินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-Core Asset)
เพื่อสร้างความชัดเจนในโครงสร้างองค์กร หยุดการขาดทุนจากสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และนำกระแสเงินสดจากการขายสินทรัพย์มาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจหลักเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตต่อไป
- เดินหน้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring)
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 4 ชุด ในไตรมาสที่ 4 ในปี 2567 บริษัทฯ ได้มีแผนการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้อื่นๆ เช่น เจ้าหนี้สถาบันการเงิน โดยการพิจารณาเงื่อนไข การชำระหนี้ที่ปรับเปลี่ยน เช่น การขยายระยะเวลาการชำระหนี้และลดภาระดอกเบี้ย เพื่อรักษากระแสเงินสดสำหรับการดำเนินธุรกิจให้มีเสถียรภาพสูงสุด
- ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance)
บริษัทฯ มีแผนอย่างเร่งด่วนที่จะปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ (Stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ คู่ค้า ฯลฯ ดังนี้
– โดยมีแผนที่จะมีการเสริมทีมทั้งคณะกรรมการ และผู้บริหารชุดใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ ตามกลยุทธ์ที่วางเอาไว้
– ทบทวนและปรับปรุงนโยบายระดับบริหารและระบบควบคุมภายใน ให้มีความเหมาะสมและรัดกุมมากขึ้น
– ดำเนินการตรวจสอบรายการที่มีความไม่ชอบมาพากลในอดีต และหากตรวจสอบพบการกระทำความผิดจริง ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที