หุ้นวิชั่น – ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือKKP สำหรับปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 4,985 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับปี 2566 หลัก ๆ มาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับลดลงร้อยละ 11.0 จากการชะลอตัวของสินเชื่อตามมาตรการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อในประเภทที่มีคุณภาพสูง รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินตามภาวะอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลงหากเทียบกับปีก่อนหน้า
ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นปรับตัวลดลงตามคุณภาพสินเชื่อที่มีสัญญาณทยอยปรับตัวดีขึ้น จากการมุ่งเน้นบริหารคุณภาพสินทรัพย์มาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
ทางด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ธนาคารยังคงสามารถสร้างรายได้ในระดับที่ดี ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 หากเทียบกับปี 2566 สำหรับรายได้จากธุรกิจตลาดทุนในส่วนของธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) และธุรกิจการจัดการกองทุน ปรับเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำและสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทรยังคงมีส่วนแบ่งตลาด ในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นอันดับที่ 1 อย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนแบ่งตลาดสำหรับปี 2567 ที่ร้อยละ 22 นอกจากนี้แล้ว ธนาคารยังมีรายได้ในส่วนของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด ในขณะที่รายได้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะในส่วนของรายได้ค่านายหน้าประกันปรับตัวลดลง ภายใต้มาตรการชะลอการเติบโตสินเชื่อของธนาคาร
ภายใต้ความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารในปี 2567 ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อต่อเนื่องจากปี 2566 ธนาคารยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเร่งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ และจากมาตรการต่าง ๆ ที่ธนาคารได้ดำเนินการมาเพื่อบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทยอยปรับตัวลดลงและอยู่ในระดับที่ดีกว่ากรอบคาดการณ์ของธนาคาร
ในขณะที่ผลขาดทุนจากการขายรถยึดปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเช่นกันหากเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ธนาคารยังคงความระมัดระวังในการพิจารณาตั้งสำรองเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยมีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับปี 2567 เป็นจำนวน 3,974 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 34.7 หากเทียบกับปีก่อนหน้า ตามคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 134.2 ทางด้านอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีที่ร้อยละ 4.2 ณ สิ้นปี 2567
สำหรับไตรมาส 4/2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 109.9 จากงวดเดียวกันของปี 2566 หลัก ๆ มาจากการปรับลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 36.0 รวมถึงผลขาดทุนจากการขายรถยึดที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามปริมาณรถยึดที่ทยอยลดลง
ทางด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.3 หากเทียบกับไตรมาส 4/2566 จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนของธุรกิจตลาดทุน ทั้งในส่วนของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจจัดการกองทุน และธุรกิจวาณิชธนกิจ
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีรายได้ในส่วนของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไร หรือ ขาดทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาดสุทธิกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับลดลงร้อยละ 16.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยตามมาตรการชะลอตัวของสินเชื่อของธนาคาร และการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินตามภาวะอัตราดอกเบี้ย