หุ้นวิชั่น – IRPC ปี 2567 ยังเผชิญความท้าทาย! รายได้ลดลง 6% จากราคาน้ำมันดิบขาลง ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน ขณะที่ตลาดปิโตรเคมีเผชิญอุปทานล้นจากจีน บันทึกผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 5,193 ล้านบาท มากกว่าปี 2566 ที่ร้อยละ 78 แนวโน้มปี 2568 คาดความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกและข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าลงทุน 13,093 ล้านบาท รองรับความผันผวนของตลาดพลังงานและปิโตรเคมี
นาย พิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บัญชีและการเงิน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการประจำปี 2567 เปรียบเทียบกับปี 2566: บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสิทธิสำหรับปี 2567 จำนวน 281,711 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณขายลดลงร้อยละ 4 และราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 2 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง
สำหรับธุรกิจปิโตรเลียม มีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นตามราคาตลาด (Market Gross Refining Margin: Market GRM) ที่ลดลงจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินที่อ่อนตัวลงจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ของโรงกลั่นในแถบประเทศตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา
ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี (Market Product to Feed: Market PTF) ที่เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาแนฟทาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน
ในขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคมีกำไรขั้นต้นค่อนข้างคงที่จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 18,355 ล้านบาท หรือ 7.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีของปี 2567 ปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดยมีปัจจัยกดดันจากความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรปที่ชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่าน การลดลงของราคาน้ำมันดิบส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 2,496 ล้านบาท หรือ 0.98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่มีการกลับรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสิทธิที่ได้รับ (กลับรายการ NRV) 953 ล้านบาท หรือ 0.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง (Realized Oil Hedging) 879 ล้านบาท หรือ 0.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
จากรายการดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ บันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net Inventory Loss) รวม 664 ล้านบาท หรือ 0.25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 17,691 ล้านบาท หรือ 6.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 3 จากปีก่อน
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 4,476 ล้านบาท ลดลง 1,278 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 22 โดยในปี 2567 บริษัทฯ บันทึกค่าเสื่อมราคา 9,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อน เป็นผลจากสินทรัพย์ที่เพิ่มจากโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ที่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2567
ประกอบกับมีต้นทุนทางการเงินสุทธิ จำนวน 2,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นตามตลาด นอกจากนี้ บริษัทฯ บันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าและตัดจำหน่ายทรัพย์สินจำนวน 566 ล้านบาท โดยหลักมาจากบันทึกด้อยค่าเงินลงทุนของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม และบันทึกการกลับรายการด้อยค่าที่ดิน
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรจากการลงทุนจำนวน 989 ล้านบาท โดยหลักเพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จำกัด (WHAIER) ที่เริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายที่ดินตั้งแต่ไตรมาส 2/2567 จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2567 บริษัทฯ บันทึกผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 5,193 ล้านบาท มากกว่าปี 2566 ที่ร้อยละ 78
แนวโน้มธุรกิจปี 2568
1. ธุรกิจปิโตรเลียม
ทิศทางและแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปี 2568 คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกอยู่ที่ประมาณ 106 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่อยู่ที่ประมาณ 105 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังประธานาธิบดีของจีนประกาศว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2568 บรรลุเป้าหมายที่ร้อยละ 5
อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันจากนโยบายการบริหารประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เช่น
• การเจรจาสงบศึกระหว่างรัสเซียกับยูเครน
• การเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ
แม้ปัจจุบันการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ประมาณ 13-14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการผลิตน้ำมันดิบในพื้นที่อื่นๆ ของโลก อีกทั้งการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อาจกระทบต่อการค้าและการผลิตของหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก
นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันดิบของประเทศอื่นๆ นอกกลุ่ม โอเปกพลัส (OPEC+ ) ยังอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันดิบจะมีอุปทานส่วนเกินอยู่ที่ประมาณ 0.4-1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้โอเปกพลัสได้ดำเนินการเลื่อนการเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบเพื่อลดผลกระทบจากสภาวะอุปทานส่วนเกินก็ตาม
สำหรับราคาน้ำมันดิบ ดูไบในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปัจจัยหลักที่คาดว่าจะมีผลต่อราคาน้ำมันดิบ ได้แก่
• การชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ตามนโยบายการบริหารประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และกดดันความต้องการใช้น้ำมัน
• ผลกระทบที่เกิดจากการกีดกันการค้าต่อจีน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออุปทานของน้ำมันดิบ
2. ธุรกิจปิโตรเคมี
ทิศทางและแนวโน้มราคาปิโตรเคมีปี 2568 คาดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังคงเผชิญกับการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตใหม่ในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด (Over Supply) ขณะที่อุปสงค์คาดว่าจะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับปี 2567 ที่ประมาณ ร้อยละ 1-3 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ผลิตปิโตรเคมีบางรายจำเป็นต้องบริหารระดับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมปลายทางแต่ละประเภทมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกัน เช่น
• ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เช่น ฟิล์มและกล่องพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ขวดพลาสติก คาดว่าจะเติบโตได้ดีจากภาคการบริโภคและภาคบริการที่ยังคงแข็งแกร่ง
• กลุ่มสินค้าเทคโนโลยี คาดว่าจะเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
• กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าคงทน เช่น อาคาร บ้าน และรถยนต์ มีอัตราการเติบโตต่ำกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากความเชื่อมั่นและความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่
• ปริมาณการค้าโลกที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ากับหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน
• ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
• ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์เกิดความรุนแรงหรือลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ จะส่งผลต่อราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบให้มีความผันผวนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยังต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับข้อจำกัดทางการค้าในประเด็นด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยหลายประเทศตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่จะเริ่มใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเหล่านี้ในปริมาณสูง ซึ่งครอบคลุมถึง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในห่วงโซ่การผลิต ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องปรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับข้อกำหนดดังกล่าว
แผนการลงทุน
คณะกรรมการของบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2568 – 2572) วงเงินรวม 13,093 ล้านบาท