หุ้นวิชั่น – GULF เดินหน้าควบรวม INTUCH จัดตั้งบริษัทใหม่ ‘กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์‘ เสริมความแข็ง ฐานะการเงินที่แกร่ง คาดรับรู้กำไรจาก AIS ไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี หนุน EBITDA โตต่อเนื่อง พร้อมลด D/E เหลือ 0.8 เท่า เตรียมลงทุน 90,000 ล้านบาทใน 5 ปี ขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนสู่ 40% ภายในปี 2035 ปีนี้ปักธงรายได้โต 20-25%
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)หรือ GULF เปิดเผยถึงความพร้อมเดินหน้าควบรวมกับ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ “กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)” และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งด้านสถานะทางการเงิน พร้อมต่อยอดการเติบโตของธุรกิจพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และดิจิทัลอย่างยั่งยืน
การควบรวมครั้งนี้จะช่วยเสริมสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยบริษัทใหม่ยังถือหุ้นตรงใน AIS 40% ทำให้สามารถรับรู้กำไรและ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะได้รับ Profit Sharing จาก AIS ไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี พร้อมกระแสเงินสดจากเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) จะลดลงจาก 1.8 เท่า เหลือ 0.8 เท่า ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้น พร้อมต่อยอดธุรกิจพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และดิจิทัล โดยตั้งเป้าควบคุมหนี้ไม่ให้เกิน 2 เท่า ซึ่งในอนาคตคาดว่าเครดิตเรตติ้งของบริษัทใหม่จะได้รับการปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง
การควบรวมครั้งนี้ยังช่วยกระจายความเสี่ยงของรายได้ โดยคาดว่าในอนาคต 60% ของกำไรจะมาจากธุรกิจพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน และ 40% จากธุรกิจดิจิทัลผ่าน AIS ขณะเดียวกัน บริษัทก็ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจพลังงานเป็นหลัก โดย 80% ของรายได้ยังคงมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 40% ภายในปี 2035 จากปัจจุบันที่ 10% ซึ่งบริษัทมีความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายแล้ว โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดนี้จะช่วยดึงดูดนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์
ด้านการลงทุนใน AIS หลังการควบรวม จะช่วยให้บริษัทสามารถรับรู้กำไรจาก AIS ได้มากขึ้น พร้อมผลักดันการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ฟิกบอร์ดแบรนด์ และการต่อยอดสู่ธุรกิจ Virtual Bank ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนสำคัญของบริษัทในอนาคต
สำหรับแนวโน้มรายได้ปี 2568 คาดว่าจะเติบโต 20-25% โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 1,500 เมกะวัตต์ อาทิ โครงการ HKP หน่วยผลิตที่ 2 กำลังผลิต 770 เมกะวัตต์ ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รวมถึงโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์ฟาร์มร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานในประเทศอีก 7 โครงการ กำลังผลิตรวม 597 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมปีนี้ นอกจากนี้ โครงการ Solar Rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าเพิ่มอีก 110 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 15,100 เมกะวัตต์ เป็น 16,577 เมกะวัตต์
ในส่วนของธุรกิจก๊าซ ปีนี้บริษัทมีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็น 70 ลำ หรือประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อรองรับโรงไฟฟ้า GSRC, GPD และ HKP ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จาก shipper fee สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจก๊าซต่อไป
ธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) มีแผนทยอยเปิดให้บริการ เฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ในเดือนเมษายนปีนี้ และตั้งเป้าขยายขนาดการให้บริการเป็น 100-200 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลในประเทศไทย ขณะที่ธุรกิจ Cloud ซึ่งบริษัทได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud Air-Gapped มีแผนเปิดให้บริการช่วงกลางปี 2568 เพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
สำหรับปี 2568 บริษัทมีแผนลงทุน 23,000 ล้านบาท โดย 70% จะใช้ลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน ส่วนที่เหลือใช้ในธุรกิจดิจิทัล ขณะที่แผนลงทุนระยะ 5 ปี (2025-2029) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 90,000 ล้านบาท โดย 80% มุ่งเน้นโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมในอังกฤษ พลังงานน้ำในลาว รวมถึงแหล่งก๊าซธรรมชาติ และการลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์และโครงสร้างพื้นฐาน โดยแหล่งเงินลงทุนจะมาจาก กระแสเงินสดของบริษัท การออกหุ้นกู้ และเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์
ด้านนโยบายการจ่ายเงินปันผล ภายหลังการควบรวมจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการจ่ายเพิ่มกว่าระดับเดิม แต่จะขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้ โครงสร้างพอร์ตโรงไฟฟ้าของบริษัทมีความมั่นคงสูง โดยโครงการส่วนใหญ่เป็น โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และโครงการพลังงานทดแทนที่ได้รับอัตราค่าไฟแบบ Feed-in Tariff (FiT) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของพอร์ต โดยเน้นจำหน่ายไฟฟ้าให้ EGAT เป็นหลัก ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากมาตรการแทรกแซงของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบมีสัดส่วนเพียง 6% ของพอร์ต และบริษัทได้มีมาตรการบริหารความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้พอร์ตโรงไฟฟ้ายังคงมีเสถียรภาพและไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของนโยบายภาครัฐ