หุ้นวิชั่น- GULF แจงความคืบหน้า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ล่าสุด ได้ออกแบบ ก่อสร้าง และประกอบกิจการท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Superstructure) บนพื้นที่ถมทะเล 200 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตันต่อปี (สำหรับท่าเรือก๊าซส่วนแรก) และส่วนขยายไปจนถึง 10.8 ล้านตันต่อปี
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินบริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) GULF แจ้งว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้จัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ให้มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ครอบคลุมพื้นที่ 1,000 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของแผน
ทั้งนี้ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด (“GMTP”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ถือหุ้นร่วมกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 70 และ 30 ตามลำดับ ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นระยะเวลา 35 ปี เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยแบ่งงานออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1: งานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ งานขุดลอกและถมทะเลในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ การก่อสร้างแนวกันคลื่น การก่อสร้างท่าเรือบริการ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ระยะที่ 2: งานออกแบบ ก่อสร้าง และประกอบกิจการท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Superstructure) บนพื้นที่ถมทะเลประมาณ 200 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตันต่อปี (สำหรับท่าเรือก๊าซส่วนแรก) และส่วนขยายไปจนถึง 10.8 ล้านตันต่อปีนั้น บริษัทฯ ขอแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 กลุ่มบริษัทฯ ได้รับจดหมายยืนยันจาก กนอ. สำหรับการรับงานถมทะเลในการพัฒนาโครงการระยะที่ 1 (Infrastructure) และงานออกแบบ ก่อสร้าง และประกอบกิจการท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Superstructure) บนพื้นที่ถมทะเลประมาณ 200 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตันต่อปี (สำหรับท่าเรือก๊าซส่วนแรก) และส่วนขยายไปจนถึง 10.8 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่การก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) แล้วเสร็จ ท่าเทียบเรือดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อสนับสนุนธุรกิจก๊าซของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper License) สำหรับนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในปริมาณรวม 7.8 ล้านตันต่อปี เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้ากัลฟ์ พีดี โรงไฟฟ้ากัลฟ์ เอสอาร์ซี และโรงไฟฟ้าหินกอง
โดยท่าเทียบเรือดังกล่าวจะถือเป็นสถานีแห่งที่ 3 ของประเทศไทย และจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตไฟฟ้า ตามการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ