หุ้นวิชั่น-AMATA โชว์กำไรปี 67 ที่ 2,483 ล้านบาท เติบโต 31% ส่วนรายได้รวม 14,901 ลบ. พุ่ง 53.63% หนุนโดยยอดโอนที่ดิน 1,912 ไร่ ดันรายได้ขายอสังหาฯ โต 87.43% พร้อมรับรู้รายได้ค่าสาธารณูปโภค-ค่าเช่าเพิ่ม มองปี 68 โตต่อเนื่อง ไทยยังเป็นเป้าหมายหลักดึงดูดการลงทุน
นางสาว เด่นดาว โกมลเมศ กรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือAMATA กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัท 2,483 ล้านบาท เติบโต 31.74% จากปีก่อน 1,884.76 ล้านบาท ขณะที่ กำไรสุทธิสำหรับปี 2567 จำนวน 3,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,012 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.13 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ รายได้ค่าสาธารณูปโภค และรายได้จากการให้เช่าเพิ่มสูงขึ้น
รายได้รวม14,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.63% ธุรกิจพัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 9,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,200 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 87.43 จากปีก่อน ซึ่งมาจากการโอนที่ดินจำนวนทั้งสิ้น 1,912 ไร่ (ไทย: 1,443 ไร่ และ เวียดนาม 469 ไร่)ในขณะที่ปี 2566 มีการโอนที่ดินจำนวน 787 ไร่ (ไทย: 414 ไร่ และ เวียดนาม: 373 ไร่) และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 38.18 ปรับตัวลงจากร้อยละ 47.49 เนื่องจากต้นทุนพัฒนาที่ดินในประเทศไทยและค่าก่อสร้างในประเทศเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น
ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค
รายได้ค่าบริการสาธารณูปโภคของบริษัทฯ สำหรับปี 2567 จำนวน 4,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 903 ล้านบาทหรือร้อยละ 23.32 จากปี 2566 เนื่องจากในปี 2567 บริษัทฯ มีรับรู้รายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 20.37 ในปี 2566เป็นร้อยละ 16.88 ในปี 2567 เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวมีการกำหนดราคาต้นทุนและราคาขายจากทางรัฐบาลเวียดนาม ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถควบคุมอัตรากำไรขั้นต้นดังกล่าวได้
ธุรกิจโรงงานให้เช่าสำเร็จรูปและพื้นที่พาณิชยกรรม
บริษัทฯ มีรายได้จากการให้เช่าจำนวน 940 ล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้นจำนวน 103 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.31เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจโรงงานให้เช่าสำเร็จรูปและพื้นที่พาณิชยกรรมอยู่ที่ร้อยละ 76.96 ในปี 2567
แนวโน้มการลงทุนในปี 2568 จะยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปี 2567 และยังเป็นปีแห่งโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ ได้แก่ ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าและการกีดกันทางเทคโนโลยีที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้นักลงทุนต้องเร่งเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง โดยไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน อีกทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ สามารถเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงซัพพลายเชนให้กับมหาอำนาจขัวต่าง ๆ ได้ นักลงทุนจึงมองไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีความมั่นคงปลอดภัย และมีความโดดเด่นในภูมิภาค