บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (JMART) รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยจากงบการเงินรวมประจำปี 2567 บริษัท มีผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 1,140.8 ล้านบาท ปรับสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาเท่ากับ 355% ซึ่งแสดงถึงผลการดำเนินงานของบริษัทได้กลับเข้าสู่สภาวะของการเติบโตในการดำเนินงาน
กลุ่มบริษัทเจมาร์ท ยังคงดำเนินธุรกิจภายใต้การดำเนินงานร่วมกันของกลุ่มบริษัทย่อยและร่วม โดยมี 4 สายธุรกิจหลัก ที่เน้นการประกอบธุรกิจในธุรกิจค้าปลีกและการเงินด้วยเทคโนโลยี ภายใต้ปณิธานของการดำเนินงานในแนวคิด “The Power of Synergy” ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่สำคัญที่จะสร้างระบบนิเวศในการดำเนินงาน (Ecosystem) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เสริม ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด (“เจมาร์ท โมบาย”) ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีจำนวนสาขาที่เปิดทั่วประเทศจำนวน 309 สาขา มียอดขายลดลง 1% จากปีที่ผ่านมา โดยมียอดขายอยู่ที่ระดับ 8,605 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 90 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะของการแข่งขั้นและสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังซื้อยังมีการชะลอตัว
บริษัทฯ ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อทิศทางของผลการดำเนินงานในปี 2568 ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมียอดขายที่สูงกว่าปี 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจาก Smart Phone ไปสู่ AI Smart Phone ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของการใช้มือถือที่มีสมรรถภาพทางด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มากขึ้น ประกอบกับการร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มในการผลักดันยอดขายผ่านสินเชื่อมือถือ Locked Phone ทั้งในส่วนของ Samsung Finance+ โดยบริษัท เคบีเจ แคปิตอล จำกัด และ SG Finance+ โดยบริษัท เอสจี แคปิตอล จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ คาดหวังว่านโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐจะเพิ่มยอดขายให้ภายในปี 2568 นี้
ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) ยังคงเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ที่ผ่านมามีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 1,615.2 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 19.7% ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทมีการตั้งสำรอง Expected Credit Loss ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บหนี้ที่น้อยกว่าประมาณการ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหารของเจเอ็มทีได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจโดยการเพิ่มมาตรการในการติดตามหนี้ด้อยคุณภาพให้ใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้ตั้งแต่ไตรมาส 3/2567 เป็นต้นมา ระดับของ ECL ที่ต้องสำรองลดลงอย่างชัดเจน และมีการจัดเก็บหนี้คุณภาพที่ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งปี 2568 เจเอ็มที คาดว่าจะมีระดับของ ECL ที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และทิศทางเช่นเดียวกับในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2567
ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (J) มีผลการดำเนินงานในปี 2567 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 165.6 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 14% เนื่องจากรายการปรับมูลค่ายุติธรรมที่ลดลง โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทไม่มีการเปิดตัวของโครงการศูนย์การค้าชุมชนที่มีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเจเอเอสเปิดศูนย์การค้าได้ตามเป้าหมายจำนวน 2 ศูนย์การค้า ด้วยกันคือ JAS Green Village ประเวศ และ JAS Green Village รามคำแหง ซึ่งทำให้ปัจจุบันเจเอเอสมีศูนย์การค้าชุมชนภายใต้การบริหาร 8 ทำลทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทเน้นรักษากระแสเงินสดพร้อมกับการปรับปรุงโครงการของศูนย์การค้าเดิม ซึ่งได้เห็นผลอย่างชัดเจนที่ศูนย์การค้า JAS Green Village อมตะ ที่มีผู้เช่ารายใหญ่และรายย่อยเข้ามาเช่าพื้นที่ทำให้โครงการศูนย์การค้ามีอัตราการเช่าที่ดีขึ้น และในช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา โครงการ The JAS รามอินทราได้เปิดตัว Supermarket โดย Big C ได้เข้ามาเปิด Big C Food Place ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าจากชุมชนใกล้เคียง ในปี 2568 J มุ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้ส่วนเพิ่ม โดยที่จะมีมูลค่าการลงทุนขนาดใหญ่ที่ลดลง และสร้างอัตรากำไรเพิ่มจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพภายใต้การบริหารของบริษัท
ธุรกิจประกันภัย ภายใต้บริษัทย่อยของเจเอ็มที ภายใต้ชื่อบริษัท เจมาร์ท ประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำหรับปี 2567 มีรายได้ 227.2 ล้านบาท ลดลง 89.1 ล้านบาท หรือลดลง 28.2% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯ ได้พิจารณาการรับประกันภัยโดยพิจารณาถึงความเสี่ยงของประกันภัยเพื่อควบคุม Loss Ratio
ขณะที่ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำปี 2567 งบการเงินรวมมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทฯ 1,615.2 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 เท่ากับ 395.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ ร้อยละ 30.9 ส่วนรายได้รวมสำหรับปี 2567 เท่ากับ 5,225.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 139.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.7
ด้าน บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER สำหรับไตรมาสสุดท้ายของเดือนธันวาคม กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิของบริษัทใหญ่จำนวน 14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,224 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 3,210 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2567 กลุ่มบริษัทฯ มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตในธุรกิจสินเชื่อของบริษัทย่อย และการตั้งสำรองการลดลงของมูลค่าสินค้าในบริษัท รวมทั้งสินค้าล้าสมัยในสินค้าคงเหลือลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน
ด้านบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน)หรือ J สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำปี 2567 มีกำไรสุทธิ 165.6 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 14 โดยสาเหตุหลักที่บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง เนื่องจาก รายการกำไรสุทธิจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนลดลง จากคอมมูนิตี้มอลล์ใหม่ของบริษัทฯ ที่ทำการเปิดศูนย์การค้า JAS Green Village ประเวศ ในไตรมาสที่ 2/2567 และ JAS Green Village รามคำแหง ในไตรมาสที่ 3/2567 ซึ่งมีมูลค่าของโครงการขนาดเล็กกว่าปี 2566 รวมถึง ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้มุ่งเน้นไปที่ การพัฒนาศูนย์การค้าเดิมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึง ปรับเปลี่ยนผู้เช่ารายหลักในบางศูนย์การค้า ที่เปิดดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อเพิ่มสีสันและความน่าสนใจให้กับลูกค้าในแต่ละศูนย์
ขณะที่บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)หรือSGC สำหรับปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 162.7 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2566 บริษัทมี ขาดทุนสุทธิ จำนวน 2,275.2 ล้านบาท
กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจาก นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น และ การติดตามหนี้เชิงรุก ทำให้ ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง รวมถึง การเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยรับจากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone)นอกจากนี้ การควบคุมค่าใช้จ่าย และการชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วน ทำให้ ดอกเบี้ยจ่ายลดลง ส่งผลให้ในปี 2567 บริษัทมี อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 8.3
และบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (สุกี้ ตี๋น้อย หรือ Suki Teenoi) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 Suki Teenoi มีสาขาทั้งหมด 78 สาขา, Teenoi BBQ (บุฟเฟต์ปิ้งย่าง) 1 สาขา, และ Teenoi Express (บุฟเฟต์พรีเมียม) 1 สาขา
ในปี 2567 Suki Teenoi ได้เปิดสาขาเพิ่มขึ้น 23 สาขา โดยบางส่วนได้เริ่มขยายไปยัง ต่างจังหวัด เช่น ชลบุรี, ระยอง, สุพรรณบุรี, มหาสารคาม, อุดรธานี และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทำเลที่มีลูกค้าเข้าใช้บริการหนาแน่น ด้วยแนวคิด การให้บริการที่เข้าถึงความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการทาน สุกี้-ชาบู ในราคาคุ้มค่า ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างดี
สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น Suki Teenoi ในสัดส่วนร้อยละ 30 เท่ากับ 350.7 ล้านบาท จากผลกำไรสุทธิรวม 1,169 ล้านบาท (ไม่รวมการปันส่วนราคาซื้อ (PPA))
นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับ กลุ่มบริษัทเจมาร์ท เช่น การนำคะแนนสะสมมาแลกเป็นค่าบุฟเฟต์ ตามที่กำหนด รวมถึงยังมีแผนร่วมมือกันในการเปิดร้าน Teenoi BBQ ในศูนย์การค้าของ JAS Asset ซึ่งได้เปิดไปแล้ว 1 สาขาที่ Jas Green Village คู้บอน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา