หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงาน บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ประเทศไทยเคยเกิดเหตุภัยพิบัติหนักๆ อยู่ 3 ครั้งใหญ่ ได้แก่ เหตุการณ์สึนามิ, น้ำท่วมใหญ่ และแผ่นดินไหวเชียงราย ซึ่งหากย้อนรอยเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้น จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 เหตุการณ์ส่งผลลบให้เศรษฐกิจเสียหายราว 4.55 แสนล้านบาท, 1.4 ล้านล้านบาท และ 2.2 พันล้านบาท ตามลำดับ
โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้ หอการค้าคาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจไทยระยะสั้น ประเมินความเสียหายราว 3-5 พันล้านบาท กระทบ GDP ราว 0.025% อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าหากเหตุการณ์คลี่คลายลง เศรษฐกิจไทยก็พร้อมฟื้นตัวขึ้นทันที ดังรูปด้านล่าง
ขณะที่หากพิจารณาในมุมตลาดหุ้นไทย (SET) จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จะคล้ายคลึงกับการเกิดสึนามิปี 47 มากกว่าการเกิดอุทกภัยปี 54 เนื่องด้วยการเกิดอุทกภัยปี 54 ช่วงเวลาที่เกิดต่อเนื่องนานถึง 5 เดือน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์สึนามิปี 47 SET ปรับตัวลงเพียง 3 วันแรกเท่านั้น และหลังจากนั้นจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วง 1-3 เดือน ตาม FLOW ต่างชาติที่ทยอยไหลเข้า ซึ่งต้องติดตามว่าการ PANIC SELL ครั้งนี้จะคล้ายกับเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ เนื่องด้วย VOLUME การซื้อขายขณะนี้เบาบางกว่าในอดีต
ซึ่งหากพิจารณา VOLUME BAND ของ SET ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนกังวล TRADE TARIFF ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 2 เม.ย. 68 จึงทำให้ VOLUME ปัจจุบันอยู่ราว 2.2-3.0 หมื่นล้านบาท เท่านั้น ใกล้เคียงระดับลบ 1.5-2 SD
แผ่นดินไหวครั้งนี้ ส่งผลต่อแต่ละ SECTOR อย่างไรบ้าง
แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อแต่ละ SECTOR มาก-น้อยเพียงใด หรือมี SECTOR ไหนได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้บ้าง มาดูกัน
กลุ่มอสังหาฯ (-)
เป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย นอกจากกระทบต่อภาพรวมคอนโดฯ, การดำเนินงาน 2Q68 ทรุดตัว (ทั้งผลกระทบวันหยุดยาวเดือน เม.ย. และดีมานด์ชะงัก) และเพิ่ม DOWNSIDE ต่อประมาณการกำไรปีนี้ ย่อมสร้างแรงกระแทกต่อหุ้นในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น UNDERPERFORM ตลาดฯ จึงแนะนำลงทุนน้อยกว่าตลาดสำหรับกลุ่มฯ พร้อมหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นกลุ่มนี้จนกว่าจะเห็นสถานการณ์ดีขึ้น หรือความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา
โดยจะเร็วช้าขึ้นอยู่กับหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันทุกรายต่างเร่งแก้ปัญหา และ TAKE ACTION อย่างเร่งด่วน นอกจากเพื่อช่วยเหลือลูกบ้าน ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับโครงการ/แบรนด์สินค้า
เบื้องต้นประเมินผลกระทบไล่จากมากสุดมายังน้อยสุด คือ
-
- กลุ่มพอร์ตหลักคอนโดฯ
- กลุ่มผสม (แนวราบ/คอนโดฯ) ได้แก่ AP, SPALI, SIRI, SC และ PSH
- กลุ่มพอร์ตหลักแนวราบ ได้แก่ LH, QH, LALIN
กลุ่มธนาคาร (-)
ในเชิงโครงสร้าง ฝ่ายวิจัยมีความเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยดูมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ภาวะแผ่นดินไหวส่งผลต่ออาคารสูง โดยเฉพาะคอนโด แม้อาคารส่วนใหญ่มีความปลอดภัยเชิงโครงสร้าง แต่การเรียกความเชื่อมั่นของผู้อยู่อาศัยต้องใช้เวลา
ทำให้ต้องจับตามูลค่าหลักประกันกลุ่มคอนโด HIGH RISE ทั้งที่บันทึกเป็นสินเชื่อและ NPA ในระยะสั้นมีแนวโน้มนำไปสู่ระดับการตั้งสำรองสูงขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านมูลค่าหลักประกัน (ส่วนของ NPA อาจบันทึกใน OPEX)
โดย ธ.พ. ที่มีสัดส่วนสินเชื่อบ้าน 3 อันดับแรก ได้แก่
-
- SCB (32% ของสินเชื่อ)
- TTB (26% ของสินเชื่อ)
- KTB (19% ของสินเชื่อ)
ส่วนประเด็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของแต่ละธนาคาร อาทิ ลดค่างวด พักชำระเงินต้น และลดดอกเบี้ย เป็นมาตรการช่วยเหลือตามปกติช่วงเกิดภัยพิบัติ ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อน้ำท่วมปีก่อน โดย ธปท. ให้คงการจัดชั้นลูกหนี้ไว้เช่นเดิม ชะลอการไหลตกชั้น
กลุ่มท่องเที่ยว (-)
ภาพรวมอาคารโรงแรมให้บริการได้ตามปกติ แต่ยังต้องติดตามความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะถัดไป หลังปัจจุบันความไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีนยังสูง
ทำให้สถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย จากสมมติฐานปัจจุบันที่ทำไว้ 38.6 ล้านคน (+9% YOY) โดยผลกระทบจากกรณีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยต่ำกว่าสมมติฐาน เรียงตามสัดส่วนรายได้ในไทย ดังนี้
-
- AOT > ERW > CENTEL และ MINT (สัดส่วนโรงแรมไทยไม่เกิน 20% ของรายได้ สัดส่วนหลักๆ 50% ของรายได้มาจากโรงแรมใน EU และอีก 20% มาจากธุรกิจร้านอาหาร)
ในเชิงกลยุทธ์ หาก MINT ซึ่งได้รับผลกระทบต่ำสุด ย่อตัวตามการปรับพอร์ตของนักลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง ประเมินเป็นโอกาสสะสม
กลุ่มเครื่องดื่ม (-)
คาดว่าผู้ผลิตที่มีโรงงานในหรือการจัดจำหน่ายสินค้าในเมียนมา อย่าง OSP และ CBG แม้โรงงานของทั้ง 2 บริษัทไม่ได้รับความเสียหาย แต่อาจกระทบต่อยอดขายจากกำลังซื้อในเมียนมาที่ลดลง เนื่องจากมีพื้นที่ได้รับความเสียหายหลายจังหวัด
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (+)
บริษัทในกลุ่มฯ ที่ได้ประโยชน์คือผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างงานตกแต่ง ได้แก่ กระเบื้อง ผนัง และสี เช่น DCC, SCGD, DRT, TOA ขณะที่งานซ่อมแซมในเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้ปูนซีเมนต์มีไม่มาก
กลุ่มค้าปลีก/ค้าส่ง (+)
คาดว่ากลุ่มผู้จำหน่ายสินค้าตกแต่ง ซ่อมแซมบ้าน ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะ HMPRO ขณะที่กลุ่มค้าส่ง คาดได้ประโยชน์จากการที่ผู้คนอาจหลีกเลี่ยงการไปจับจ่ายในห้างสรรพสินค้าที่เป็นอาคารสูง และหันไปซื้อในร้านค้าส่ง อย่าง CPAXT รวมทั้งร้านสะดวกซื้ออย่าง CPALL