หุ้นวิชั่น – เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท Fitch Ratings (Thailand) หรือ Fitch ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ A+ (Tha) ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทในระดับน่าลงทุน หรือ Investment Grade อย่างไรก็ตาม Fitch ได้ปรับสถานะเป็นมุมมองเชิงลบ (Negative Outlook) จากการขยายระยะเวลาของโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดและเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ และอาจส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ Fitch ยังเชื่อมั่นว่าไทยออยล์จะสามารถรักษาสถานะเครดิตที่แข็งแกร่ง (Credit Profile) และมีแผนในการดำเนินการเพื่อควบคุมระดับหนี้สินได้ นอกจากการจัดอันดับเครดิตจาก Fitch แล้ว ไทยออยล์ยังได้รับการคงอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade จากอีกสองสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลก ได้แก่ S&P Global Ratings (S&P) และ Moody’s Investors Service (Moody’s) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเสถียรภาพทางการเงินของบริษัทฯ ความสามารถในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจ
การได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade จากทั้งสามสถาบันชั้นนำถือเป็นการยืนยันถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของไทยออยล์ที่ยังคงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้น และขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงภายใต้ ความท้าทายที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยไทยออยล์ยังคงมุ่งมั่นในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อสร้างความยั่งยืนและเสริมสร้างความมั่นคงทางธุรกิจในระยะยาว
สำหรับบรรณาธิการ
ไทยออยล์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการโรงกลั่นนํ้ามันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยมีธุรกิจหลักคือ การกลั่นนํ้ามันปิโตรเลียม ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ ไทยออยล์มีระบบการบริหารจัดการที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) โดยบริหารงานเป็นกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงธุรกิจ ทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน โดยร่วมวางแผนการผลิตก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันมีคุณภาพสูงในระดับโรงกลั่นชั้นนำ (Top quartile) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้ได้เปรียบเชิงต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจสารทำละลาย ธุรกิจบริหารการขนส่ทางท่อ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาด และธุรกิจ New S-Curve