หุ้นวิชั่น – SCB EIC คาดว่ารายได้ อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป ในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง และปริมาณผลผลิตยางพาราโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง มูลค่าการส่งออกยางพาราไทยในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว 8.8%YOY มาอยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาส่งออกยางพาราโดยเฉลี่ยจะลดลง 6.7%YOY เนื่องจากภาวะขาดดุลในตลาดยางพาราโลกมีแนวโน้มคลี่คลาย จากความต้องการใช้ยางพาราโลกที่จะเติบโตชะลอลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปริมาณผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายและโรคระบาดในพืชที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2025 จะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ปริมาณการส่งออกยางพาราในปี 2025 จะลดลง 2.2%YOY เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ซึ่งปริมาณการส่งออกที่ลดลง จะมีส่วนกดดันให้กำไรโดยรวมของอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปในปี 2025 ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาวะภูมิอากาศสุดขั้วและการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ที่จะกระทบต่อราคาและปริมาณการส่งออกยางพารา
อนึ่ง อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปมีผู้เล่นสี่รายครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ โดยผู้เล่นจะแข่งขันกันในด้านการกระจายแหล่งรายได้/ตลาด/วัตถุดิบ การบริหารความเสี่ยงด้านราคาและการมุ่งสู่ความยั่งยืน อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีการประหยัดต่อขนาด ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกราว 80% กระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 4 ราย โดย SCB EIC พบว่า ในปี 2023 กลุ่มผู้ผลิตยางพาราแปรรูปขนาดใหญ่ 4 อันดับแรกครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกยางพารารวมกันสูงถึง 80.0% โดยกลุ่มศรีตรัง (STA) มีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยไทยฮั้ว เซาท์แลนด์ และวงศ์บัณฑิต ในขณะที่ นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER), ไทยอีสเทิร์น (TEGH) และไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์ (TRUBB) มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับที่ 10, 11 และ 17 ตามลำดับ
โดยกลุ่มบริษัทที่สามารถจัดการความเสี่ยงด้านตลาด แหล่งวัตถุดิบและราคาได้ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน