หุ้นวิชั่น – มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยปี 67 เกิน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรก ยางพาราเป็นสินค้าส่งออกที่ขยายตัวโดดเด่นในกลุ่ม ไทยครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ยางพาราโลก ผู้ประกอบการยางพาราได้รับผลบวกจากราคายางที่สูงขึ้น จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัว ทำให้ผลการดำเนินงานปี 67 เติบโตจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะ 2 ผู้เล่นจดทะเบียนในตลาด อย่าง STA และ NER
มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเติบโตต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกไทยภาพรวมขยายตัว 5.4% YoY
ในปี 2567 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (TPSO) รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัว 5.4% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 300,529.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 10,548,759 ล้านบาท ซึ่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร คิดเป็น 17.36% ของมูลค่าการส่งออกรวม ด้วยมูลค่า 52,185 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,835,800 ล้านบาท) ขยายตัว 6.0% จากปีก่อนหน้า ถือว่าเป็นครั้งแรกของไทยที่มูลค่าส่งออกสินค้าเหล่านี้เกินกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 7.5% YoY ขยายตัวต่อเนื่อง 4 ปี
ไทยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นมูลค่า 28,827.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,014,588 ล้านบาท) ขยายตัวที่ 7.5% เทียบกับปีก่อน โดยสัดส่วนกว่า 88% ของมูลค่าการส่งออกมาจาก 5 สินค้าอันดับแรก ได้แก่ 1) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง (22.58%) 2) ข้าว (22.32%) 3) ยางพารา (17.32%) 4) ไก่ (14.96%) 5) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (10.87%) และตลาดส่งออกหลักของสินค้าเกษตร คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย (2567)
ถึงขาดดุลแต่สินค้าส่งออกหลายกลุ่มยังเติบโต
แม้ว่าภาพรวมในปี 2567 ไทยยังขาดดุลการค้าอยู่ที่ 6,280.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออกสินค้าในหลายกลุ่มก็ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างเช่นยางพารา ข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องแปรรูป เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเติบโตแบบ Double digits ตามลำดับ ซึ่งสินค้ากลุ่มยางพารา ขยายตัวกว่า 48.5% YoY ในเดือนธันวาคม และ 36.8% YoY ในปี 2567
การขยายตัวของกลุ่มสินค้าส่งออกไทย (2567)
ไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราแปรรูปหลักของโลก ครองส่วนแบ่งอันดับ 1
ในปี 2567 สินค้ายางพารามีมูลค่าส่งออก 4,992.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งไทยนับว่าเป็น 1 ใน 4 ผู้ผลิตยางพาราหลักของโลกจากการมีผลผลิตยางพาราจำนวนมาก โดยไทยส่งออกยางแปรรูปขั้นกลางเป็นหลักประมาณ 65% ได้แก่ ยางแท่ง ยางผสม น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ตามลำดับ ที่เหลือเป็นยางแปรรูปขั้นปลาย อย่าง ยางล้อและถุงมือยางธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม คู่แข่งประเทศอื่นอย่าง สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (Cote d’Ivoire) และเวียดนามมีข้อได้เปรียบกว่าไทยในแง่ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงกว่า ราคาขายต่ำกว่า รวมถึงมีตลาดส่งออกหลักในจีนและยุโรป ซึ่งมีสินค้าคู่แข่งอย่าง ยางแท่ง ยางผสม และน้ำยางข้น ขณะที่ไทยมีต้นทุนการผลิตสูง และการส่งออกสินค้ายางพารายังอยู่ขั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมี Value added ไม่เทียบเท่ายางแปรรูปขั้นปลาย เช่น ยางล้อ ถุงมือยางธรรมชาติ
ปริมาณการส่งออกสินค้ายางของไทย (2566)
ยางพาราส่งออก อย่างยางแท่งและยางแผ่นรมควัน จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์เป็นหลัก ส่วนน้ำยางข้น ถูกนำไปใช้ในการผลิตถุงมือยาง ยางยืด กาว ถุงยางอนามัย และอื่นๆ
ดังนั้น หากไทยสามารถเพิ่มสินค้าส่วนยางแปรรูปขั้นปลาย ประกอบกับรักษาและสามารถเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่มยางแผ่นรมควันได้ ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ผลิตหลักอยู่ จะเป็นการเพิ่ม Value ให้กับอุตสาหกรรมยางพาราและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าส่งออกได้มากยิ่งขึ้น
หุ้นยางพารา: STA และ NER
ในปี 2567 ที่ผ่านมา ราคายางพาราปรับตัวขึ้นมาก ด้วยราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 174.3 เซนต์ต่อกิโลกรัม จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวอย่างเช่น จีน ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคหลัก ประกอบกับอุปทานที่ค่อนข้างขาดแคลน โดยราคายางเฉลี่ย ณ ตลาด SICOM (Singapore Commodity Exchange) ถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ยังคงสูงกว่า 190 เซนต์ต่อกิโลกรัม สะท้อนความต้องการใช้ยางจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง
จากราคายางที่ปรับตัวขึ้นดังกล่าว ส่งผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจยางพารา ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด ได้แก่ ศรีตรัง (STA) นอร์ทอีส (NER) ไทยอีสเทิร์น (TEGH) และ ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ (TRUBB) โดย STA และ NER ถือเป็นผู้เล่นใหญ่ในกลุ่มหุ้นยางพารา ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) อยู่ที่ 24,268.8 ล้านบาท และ 9,128.2 ล้านบาท ตามลำดับ (อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.พ. 2568)
โดย STA มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและฐานรายได้สูง สะท้อนการเป็นผู้มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ขณะที่ NER เน้นการเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบมีเสถียรภาพ ซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่า STA ทั้งในแง่รายได้และกำไร
Net Profit ในที่นี้ คือ กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัท
ในด้านผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) และ ประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ (ROA) พบว่า NER โดดเด่นทั้งในเรื่อง การสร้างผลตอบแทนและการใช้สินทรัพย์น้อยกว่า ซึ่งหากวิเคราะห์ในโครงสร้างเงินทุนของบริษัทพบว่า NER มีสัดส่วนหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น สะท้อนด้วยค่า D/E (Debt to Equity) ที่ 1.29 เท่าในปี 2567 ขณะที่ STA มีค่านี้ต่ำกว่าเล็กน้อยอยู่ที่ 1.2 เท่า ในปีเดียวกัน
ด้านอัตราส่วนเงินปันผลตอบเเทน (Dividend yield) ของ NER โดดเด่นกว่า อยู่ที่ 7.36% ในปี 2567 ขณะที่ STA อยู่ที่ 5.52% ส่วนหนึ่งมาจากราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) ของ STA ที่สูงถึง 70.56 เท่า สะท้อนการเป็นหุ้นที่เติบโตเร็ว จากผลการดำเนินงานและแผนขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการยางพาราที่เติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้ว หุ้น STA อาจเหมาะกับนักลงทุนมองหาหุ้นที่มีการเติบโตที่สะท้อนผ่านค่า P/E ที่สูง ส่วนหุ้น NER จะเป็นหุ้นที่เน้นความมีเสถียรภาพทั้งในด้านผลการดำเนินงาน ราคา และผลตอบแทน เหมาะกับนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนที่มั่นคง
กลยุทธ์การเติบโตในปี 2568
ผู้เล่นในกลุ่มเน้นการเติบโตจากการขยายกำลังการผลิต เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ส่งผลต่อต้นทุนที่ลดลง รวมถึงการขยายฐานลูกค้าใหม่ในตลาดต่างประเทศ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างเช่น กลุ่ม STA ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตติดตั้งสู่ 3.74 ล้านตันต่อปีภายใน 2568 จากกำลังการผลิต 2.62 ล้านตันต่อปีในปี 2560 ส่วน NER ขยายฐานลูกค้าไปในเกาหลีและอินเดีย เพื่อตอบสนองกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเน้นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น แผ่นปูกันกระแทกสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย
ปัจจัยเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยางพาราก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญ จากภาวะเศษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ ความท้าทายจากเทรนด์ความยั่งยืน โดยเฉพาะจากกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการต้ดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation : EUDR) ซึ่งกำหนดให้สินค้ายางพาราหรือผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่ส่งไปสหภาพยุโรป ต้องผ่านการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ว่าไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ไทยเองก็มีความพร้อมมากกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งข้อกำหนด EUDR เลื่อนการบังคับใช้จากสิ้นปี 2567 มาเป็นสิ้นปี 2568 ดังนั้น จากที่ไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว ก็จะมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับข้อกำหนดนี้
หมายเหตุ: การวิเคราะห์ข้างต้นเป็นการดูอัตราส่วนทางการเงินเบื้องต้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
รายละเอียดเพิ่มเติม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/8901e23d-5940-4055-a7a5-e0cc315074dc