หุ้นวิชั่น-ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า การวางยุทธศาสตร์รับมือมาตรการ Reciprocal Tariff และ liberation day ต้อง ‘รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ’ ซึ่งการประชุมวันนี้จะเป็นการติดตามสถานการณ์ กำหนดก้าวต่อไปอย่างรอบคอบและแม่นยำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทย
ตามที่ นายทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการ Reciprocal Tariff และ liberation day เมื่อวันที่ 2 เมษายน ซึ่งถือเป็นการกำหนดกติกาการค้าโลกใหม่ สร้างผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกาเอง ตามรายงานข่าวที่ทุกท่านได้ติดตามรับทราบโดยทั่วกัน
การณ์นี้ รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ระบุให้เป็นวาระสำคัญ โดยแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อ 6 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ฯ เป็นประธาน , อาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ , ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นที่ปรึกษา เพื่อศึกษารายละเอียด หารือ และกำหนดแนวทางร่วมกับภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด
โดยในที่ประชุม ครม. เมื่อเช้านี้ ได้มีการมอบหมายให้ท่านรองนายกฯ พิชัย เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจากับทางอเมริกา พร้อมด้วย รมต. พาณิชย์ เป็นผู้ร่วมคณะเจรจา มีการประสานนัดหมาย เพื่อทำการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น USTR และหน่วยงานอื่นๆ ของอเมริกา เพื่อนำเอาข้อเสนอของไทยไปพูดคุย
และการประชุมวันนี้จะเป็นการติดตามสถานการณ์ เพื่อกำหนด ก้าวต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยอย่างรอบคอบและแม่นยำ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ คือต้อง “รู้เขา” และ “รู้เรา” วันนี้เห็นนอกจากรูปแบบการตอบโต้ และรับมือต่อนโยบาย Trump จากประเทศต่างๆ มีอะไรบ้าง และยังได้เห็นปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวตอบโต้ของประชาชนภายในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้อีกด้วย
ยุทธศาสตร์และกระบวนการทำงานของรัฐบาลต้องทั้ง ‘เร็ว และ แม่นยำ’
- เร็ว : ขอย้ำว่ามีการจัดตั้งคณะทำงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งตั้งก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งเป็นทางการเมื่อ 20 มกราคม และได้ประสานงานกับฝั่งทางสหรัฐอเมริกามาตลอด
- แม่นยำ : มีการเตรียมข้อมูลที่ครบและรอบด้าน มีการติดตามความเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมินและหาข้อสรุปในการเจรจาที่จะมีต่อไปจากนี้
ดิฉันขอย้ำว่า การเจรจาไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ แต่การเจรจาจะต้องใช้เวลา และมีการเจรจาในหลายระดับที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดผลกระทบเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงต้องการเตรียมมาตรการรับมือและเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวจะต้องมองถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการหาตลาดใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้อย่างเข้มแข็ง
ดิฉันขอยืนยันว่า รัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง จะดำเนินการทุกอย่างโดยรอบคอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ และไม่ให้เสียเปรียบมากที่สุด